“อัจฉริยะสร้างสุข” คือหนึ่งในหนังสือหลายร้อยเล่มที่แป๋งมักจะหยิบขึ้นมาอ่านอีกรอบ
เพราะด้วยเนื้อหาแล้วเป็นอะไรที่ยังน่าสนใจอยู่เสมอ
และคิดว่าน่าจะเข้ากับสถานการณ์ขณะนี้ในบ้านเราเป็นอย่างดี
เป็นช่วงที่เราทุกคนต้องการความสงบสุข
นักเขียนที่เล่าเรื่องความสุขได้ดีมากๆท่านหนึ่ง ที่ทำให้เราอ่านไปยิ้มไปตลอดทั้งเล่มนี้คือ
พี่หนูดี วนิษา เรซ นักเขียนที่พวกเราชื่นชอบและติดตามผลงานมาตลอด
พวกเราเคยต้อนรับพี่หนูดีใน Meeting # 24 (9-6-12) ที่ผ่านมาค่ะ
จำได้ว่าครั้งนั้นเป็น meeting ครั้งแรกที่มีคนโทรเข้ามาจองที่เยอะมากๆ
ส่วนใหญ่จะเป็นน้องๆนักเรียน นักศึกษามากกว่าคนทำงานเห็นแล้วก็รู้สึกชื่นใจค่ะ
อย่างน้อยก็ทำให้เราได้รู้ว่ามีเด็กๆกลุ่มหนึ่งที่รักการอ่านรักการพัฒนาตัวเองเหมือนพวกเรา
พี่หนูดีเริ่มต้นเรื่องด้วยการพาเราไปเยี่ยมชมห้องเรียน วิชาวิทยาศาสตร์ความสุข (
The Science of Happiness) เป็นวิชาที่มีคนลงทะเบียนกว่า 1000 คน
สอนที่หอคอนเสิร์ตขนาดใหญ่ของมหาวิทยาลัย มีอาจารย์ผู้ช่วยสอน 22 คน
เป็นคลาสเรียนที่ใหญ่มากๆ อาจารย์ที่สอนชื่อ ดร.ทาล เบน ชาฮาร์ (Dr. Tal Ben Shahar)
เป็นผู้บุกเบิกการสอนจิตวิทยาเชิงบวกคนแรกๆของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ในเนื้อหามีพูดถึงงานวิจัยหลายชิ้นที่ไปทำการสำรวจชีวิตของคนที่มีความสุขมากกว่าคนอื่นๆ
เขาพบว่าคนที่มีความสุขก็มีชีวิตปรกติเหมือนคนทั่วๆไป
มีเรื่องให้กลุ้มใจ สอบตก อกหัก เงินเดือนไม่ขึ้น พ่อ แม่เสียชีวิต อย่าร้าง เหมือนคนทั่วๆไป
แต่อะไรกันที่ทำให้พวกเขามีความสุขกว่า พบว่ามี 2 ปัจจัยที่ทำให้พวกเขามีความพิเศษ
- วิธี ‘ตีความปัญหา’ พวกเขามีวิธีตีความที่เป็นเชิงบวกมากกว่าคนทั่วไป
เช่น มักจะถามตัวเองว่า เกิดเรื่องร้ายๆแต่เราได้เรียนรู้อะไรดีๆบ้าง - พวกเขามีช่วงเวลา ‘พลิกฟื้นเยียวยา’ ที่เร็วมาก
เช่นถ้าคนอกหักใช้เวลา 3 เดือนกว่าจะหายเจ็บแต่คนกลุ่มนี้จะใช้เวลาไม่ถึงเดือน
พวกเขาเยียวยาตัวเองเร็วมาก
ถ้าเลือกได้เราทุกคนคงอย่างเป็นคนกลุ่มนี้นะคะ เราถึงได้เห็นหนังสือมากมายที่สอนให้คิดเชิงบวกมองโลกในแง่ดีเพราะการคิดในเชิงลบเป็นความคิดที่สมองเราจำได้ง่ายกว่าทำได้เองโดยไม่ต้องฝึก
อ่านมาถึงตรงนี้หลายคนอาจจะมองย้อนกลับมาดูตัวเอง
และคิดว่าเป็นคนหนึ่งที่ยังไม่มีความสุขเท่าที่ควรไม่ต้องกลัวค่ะ
เขามีวิธีฝึกสมองให้เรามีความสุขง่ายขึ้นในบทที่ 4 ทีทั้งหมด 8 ข้อ
- ต้องยอมรับและเข้าใจว่าความทุกข์และความเครียดมีผลทำลายสมองได้จริงๆ
- เรียนรู้ที่จะพูดคำว่า ‘ไม่’บ้าง
เพื่อที่จะไม่ต้องรับผิดชอบงานจนเยอะเกินไปที่จะทำให้เครียดได้ - นอนหลับให้เพียงพอ
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอประมาณสัปดาห์ละสามครั้ง
- สวดมนต์และนั่งสมาธิเป็นประจำ
มีงานวิจัยหลายชิ้นที่พบว่าสมองจะทำงานได้ดีขึ้นในคนที่นั่งสมาธิเป็นประจำ - หลีกเลี่ยงสารเคมีที่ทำร้ายสมองซึ่งส่งผลให้อารมณ์แปรปรวน
- สารอาหารชั้นดีมีคุณกับสมองที่ควรรู้จัก เช่นกลุ่มวิตามินบี
- สร้างตารางเวลาให้การหัวเราะเป็นประจำทุกๆวัน
ลองอ่านเนื้อหาโดยละเอียดในหนังสือและฝึกดูนะคะ
นี่เป็นเพียงบางส่วนที่หยิบมานำเสนอยังมีเนื้อหาที่ชวนอ่าน
และเป็นประโยชน์อีกเยอะมากๆที่ไม่ได้พูดถึงอยากให้ทุกคนลองหามาอ่านดูนะคะ
ขอส่งท้ายหนังสือเล่มนี้ด้วยแบบฝึกหัดที่เปลี่ยนชีวิตพี่หนูดีและใครอีกหลายๆคน
เป็นเกมค่ะชื่อว่า เกม “เริ่มต้นที่ตอนจบ”
เล่นง่ายๆโดยหาที่เงียบๆนั่งหลับตาสงบอยู่คนเดียว
แล้วลองจินตนาการถึงตัวเองวัย 80 ปีสมมติว่าเราต้องตายตอนอายุ 80
นอนอยู่บนเตียงแล้วมองย้อนกลับมาดูชีวิตของเรา ว่าที่ผ่านมาเราได้ใช้มันไปยังไงบ้าง
เราวิ่งตามอะไร เราวุ่นวายอยู่กับอะไร เรารักใคร เราไม่รักใคร
ความสุขความทุกข์ของเราเป็นผลอะไรและสองคำถามที่สำคัญที่สุดคือ
ชีวิตนี้ไม่ได้ทำอะไรแล้วจะเสียดายที่สุด
และถ้าไม่ได้ใช้เวลากับใครแล้วจะเสียดายที่สุด ?
เชื่อแน่ว่าถ้าพวกเราตอบคำถามนี้ได้เองจากความรู้สึกจริงที่ไม่โกหกตัวเอง
เราจะเป็นอีกคนที่พบความสุขแท้จริงของชีวิตแน่นอนค่ะ
ภานุมาศ คาดีวี (แป๋ง)
Book Lover Club(Thailand)