จากกรณีความไม่สงบทางการเมืองที่ยืดเยื้อมานาน มีพระสงฆ์อย่างน้อย ๒ รูปตกเป็นข่าว ท่านแรก หลวงปู่พุทธอิสระ เจ้าอาวาสวัดอ้อมน้อย ในฐานะหนึ่งในแกนนำ กปปส. ส่วนอีกท่านไม่ได้เกี่ยวโดยตรง คือ หลวงพ่อดี พระอาจารย์สุวัฒน์ สุวฑฺฒโน แห่งสำนักปฏิบัติธรรมพุทธพัฒนา จังหวัดสระแก้ว ที่ตั้งสัจจะปณิธาน ปฏิบัติธรรมแบบอุกฤษ ไม่จำวัด ไม่ฉันอาหาร โดยไม่มีกำหนดเวลา เอาชีวิตเข้าแลกมาตั้งแต่วันที่ ๑๑ มกราคม ๒๕๕๗ ที่ผ่านมา เพื่อขอบิณฑบาตผู้นำประเทศให้สละกิเลสแห่งอำนาจ สร้างสันติสุขให้แก่ประเทศไทยโดยเร็ว
ประเด็นนี้ทำให้เกิดข้อครหาในทำนองว่า “ไม่ใช่กิจของสงฆ์” จนบางคนตั้งคำถามว่า แล้วใครเป็นผู้กำหนดมาตรฐานว่าอะไรเป็นกิจของสงฆ์ อะไรไม่ใช่กิจของสงฆ์
โดยแท้จริงแล้ว “กิจของสงฆ์” นั้น ถูกกำหนดไว้แล้วตามนโยบายของพระพุทธเจ้า เมื่อครั้งที่พระองค์ทรงส่งพระอรหันต์ ๖๐ รูปแรกไปประกาศพระพุทธศาสนา ความตอนหนึ่งว่า “เธอทั้งหลายจงเที่ยวจาริกไป เพื่อประโยชน์และเพื่อความสุขแก่มหาชนเป็นอันมาก..ฯลฯ” แสดงชัดเจนว่าพระพุทธเจ้ามุ่งเน้นให้กิจของสงฆ์นั้นเป็นไปเพื่อทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ และเป็นความสุข (พหุชนะหิตายะ พหุชนะสุขายะ)
ดังนั้น กิจของสงฆ์ ต้องใช้พระธรรมวินัยเป็นข้อกำหนด มิใช่ใช้ความรู้สึกนึกคิดของพระสงฆ์และชาวบ้านเป็นข้อพิจารณา อันว่ากิจแท้ๆ ของพระในศาสนาพุทธก็คือ คันถธุระ กับ วิปัสสนาธุระ
แต่เมื่อพระต้องเกี่ยวข้องกับสังคมตลอด หนีไม่พ้น จะไปหลีกแบบเด็ดขาดทำนองฤาษีชีไพรไม่ได้ เพราะพระพุทธเจ้าทรงบัญญัติให้พระแสวงหาอาหารด้วยการออกบิณฑบาต ห้ามไปหลบในป่าปลูกพืชผักเอาเอง นี่คือข้อบัญญัติที่ให้พระภิกษุต้องออกมาเกี่ยวกับชาวบ้าน…
จึงมีภาระอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับสังคมหลายๆ เรื่องมาตั้งแต่สมัยที่พระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์ชีพอยู่ เช่น พระพุทธเจ้าเสด็จไปห้ามกองทัพของพระเจ้าวิฑูทภะ ถึง ๓ ครั้ง จนเป็นที่มาของพระพุทธรูปปางห้ามญาติ ซึ่งเมื่อพระพุทธองค์ทรงใช้ความพยายามอย่างที่สุดแล้ว ไม่มีใครเชื่อ ท่านก็ทรงวางอุเบกขา ปล่อยให้เป็นไปตามกรรม
หรือตอนเสด็จไปสวดมนต์ทำน้ำมนต์ให้ชาวเมืองไพศาลีเพื่อไล่ผี หรือทรงส่งพระโมคคัลลานะให้ไปช่วยควบคุมการก่อสร้างวัดปุพพารามที่นางวิสาขามหาอุบาสิกา อุทิศถวายให้ …ซึ่งกิจเหล่านี้ ไม่ใช่ทั้งคันถธุระและไม่ใช่วิปัสสนาธุระ แต่เป็น กิจช่วยเหลือสังคม สงเคราะห์โลก ซึ่งเมื่อมีเหตุผลเหมาะสมก็ต้องทำ หลีกไม่ได้
ไม่ใช่เพียงสมัยพุทธกาลเท่านั้น ที่พระสงฆ์เข้ามามีบทบาทช่วยแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้าน ในประวัติศาสตร์ชาติไทยหลายยุคหลายสมัย พระสงฆ์ก็ไม่ได้นิ่งดูดาย เมื่อเกิดเหตุเภทภัยขึ้นในบ้านเมือง
สมเด็จพระพนรัต พระสังฆราชอรัญวาสี หรือ มหาเถระคันฉ่อง พระอาจารย์ในสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เป็นพระมหาเถระผู้ทรงคุณอันยิ่งใหญ่ต่อประชาชนคนไทย นับแต่เวลาที่ได้กอบกู้เอกราชฟื้นฟูประเทศจากการตกเป็นเมืองขึ้น ซึ่งเราชาวไทยต่างทราบดีว่าเป็นพระปรีชาสามารถของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชที่ได้กระทำการในครั้งนั้น จนกระทั่งเราเป็นเอกราชมาจนทุกวันนี้
จากประวัติศาสตร์ที่เผยแพร่ชัดเจนมายาวนาน น่าจะเป็นข้อจดจำในสำนึกของเราชาวไทยทั้งหลาย ในพระคุณของสมเด็จพระพนรัต ผู้เป็นที่เคารพเทิดทูนแห่งองค์สมเด็จพระนเรศวรฯ
หากสมเด็จพระพนรัตไม่ทรงยับยั้งแผนการของพระยาเกียรติ – พระยาราม เรื่องการลอบปลงพระชนม์พระนเรศวรโดยบัญชาของพระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรง เราชาวไทยคงไม่มีองค์พระนเรศวร ผู้ทรงปรีชาสามารถมากอบกู้ชาติบ้านเมือง ให้เป็นปึกแผ่นตราบเท่าทุกวันนี้
หากสมเด็จพระพนรัตไม่ทรงบิณฑบาตขอชีวิตเหล่าทหารในการทำศึกสงครามยุทธหัตถี ก็จะทำให้ไพร่พลขาดกำลังใจ และขาดคนดีที่จะมาช่วยชาติบ้านเมืองได้อีกมากมาย
ซึ่งในกาลนี้ขอให้ทุกคนหันกลับมามองดูว่า แม้อาญาเมืองยิ่งใหญ่เพียงใด แต่ด้วยเดชแห่งบุญสังฆบารมี อันสมเด็จพระพนรัตได้แสดงถวายแด่สมเด็จพระนเรศวรฯ ยังทรงพิจารณา โดยไม่ทรงถือเอาภัยอันพระองค์ได้รับนั้นมาเป็นใหญ่เหนือพระศาสนา และคำเตือนของพระมหาเถระผู้ประเสริฐ จึงยังทำให้แผ่นดินสงบร่มเย็นสืบมา
แสดงให้เห็นถึงพระคุณธรรมอันมีในใจ เป็นชาตินักรบอย่างแท้จริงขององค์สมเด็จพระนเรศวรมหาราชเจ้า
ตัวอย่างอีกรูปหนึ่ง คือ หลวงพ่อพระอาจารย์ธรรมโชติ แห่งค่ายบางระจัน พระสมัยปลายกรุงศรีอยุธยา เดิมท่านจำพรรษาอยู่ที่วัดเขานางบวช เมืองสุพรรณบุรี พอพม่ายกทัพเข้ามาตีกรุงศรีอยุธยา ชาวบ้านบางระจันได้ตั้งค่ายรวมตัวกันต่อสู้กับพม่าข้าศึกอย่างอาจหาญ ได้อาราธนานิมนต์หลวงพ่อพระธรรมโชติเข้าไปอยู่ในค่ายเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้กับนักรบชาวบางระจัน
ซึ่งมีผู้นำที่ประกอบไปด้วย ขุนสรรค์ พันเรืองกำนัน นายทองเหม็น นายอิน นายจันหนวดเขี้ยว นางทองแสงใหญ่ นายแท่น นายเมือง นายโชติ นายดอก และนายทองแก้ว
พระอาจารย์ธรรมโชติเป็นผู้มีเวทย์มนต์ คาถาอาคมแก่กล้ายิ่งนัก ท่านลงผ้าประเจียดและตะกรุดพิศมร คุ้มครองนักรบชาวบางระจันจนได้ชัยชนะติดต่อกันมาถึง ๗ ครั้ง
รบเพื่อรอปืนใหญ่จากกรุงศรีอยุธยา แต่จนแล้วจนรอดปืนใหญ่ก็ไม่มา ประกอบกับการอัตคัดขาดแคลนอาหาร ประหนึ่งน้ำน้อยย่อมแพ้ไฟ ประกอบกับเมื่อมีผู้คนอาศัยอยู่ได้ค่ายเป็นจำนวนมาก การคละเคล้าปะปนกันของหญิงชายย่อมทำให้เกิดความเสื่อมแห่งอาคม ตบะเดชะ …….
ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ คงต้องกล่าวถึง การจุดไต้ของสมเด็จโต ซึ่งเป็นประจักษ์พยานชัดเจนว่า ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ได้กระทำกิจของสงฆ์อันยิ่งใหญ่เพื่อประโยชน์สุขของสยามประเทศมาแล้วอย่างไร
ประมาณพุทธศักราช ๒๔๑๑ ในขณะนั้น เป็นรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่พระองค์ยังทรงพระเยาว์ จึงจำเป็นต้องมีผู้สำเร็จราชการแทน นั่นคือ สมเด็จเจ้าพระยาพระบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค)
อย่างที่ทราบกันดีว่า ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ผู้นี้มีบทบาทและอิทธิพลอย่างมาก ด้วยมีข่าวลือหนักเกี่ยวกับราชบัลลังก์ของล้นเกล้ารัชกาลที่ ๕ สมเด็จพระพุฒาจารย์ โต พรหมรังสี ท่านได้จุดไต้กลางวันแสกๆ เดินทางไปยังที่พักของผู้สำเร็จราชการ
ซึ่งสมเด็จเจ้าพระยาพระบรมมหาศรีสุริยวงศ์เคารพนับถือสมเด็จพระพุฒาจารย์ โต พรหมรังสี อย่างมาก จึงได้ถามว่า “เจ้าประคุณสมเด็จ มีปัญหา มีความคับข้องใจอย่างไร จึงได้จุดไต้เข้ามาพบทั้งๆ ที่เป็นเวลากลางวัน”
สมเด็จพระพุฒาจารย์ ก็ได้ตรัสตอบว่า “เห็นบ้านเมืองมืดมน ตามข่าวที่ได้รับมาว่า จะมีการยึดอำนาจ ในการที่จะไม่ให้มีกษัตริย์สืบราชวงศ์ ลูกศิษย์ ลูกหา จำนวนมากได้มาบอก มาเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้ว หลายเรื่องหลายราวมาก จึงทำให้อาตมาภาพมีความรู้สึกห่วงใยต่อบ้านเมือง ต่อราชบัลลังก์ จึงได้มาขออนุญาตพบท่านสมเด็จเจ้าพระยาพระบรมมหาศรีสุริยวงศ์ในวันนี้”
เมื่อได้รับฟังพระอาจารย์ที่เคารพนับถือยิ่ง ถามเช่นนี้ สมเด็จเจ้าพระยาพระบรมศรีสุริยวงศ์ก้มลงกราบ และได้ให้คำมั่นสัญญาว่า “ตราบใดที่ข้าพเจ้ามีชีวิตอยู่ จะดูแลรักษาราชบัลลังก์นี้ไว้ให้กับสมเด็จพระยุพราช ได้ขึ้นครองราชย์สมบัติตามกฏมณเฑียรบาลราชประเพณีสืบต่อไป ขอองค์เจ้าประคุณสมเด็จอย่าได้วิตกกังวลไปเลย ขอรับกระผม”
เมื่อสมเด็จเจ้าพระยาฯ ได้ตรัสตอบให้คำมั่นสัญญา สมเด็จพระพุฒาจารย์ โต พรหมรังสีก็ขอบใจ และขอฝากให้ช่วยดูแลบุคคลที่คิดไม่ดีไม่งาม บุคคลที่คิดทำลายราชบัลลังก์ให้อยู่ในสายตาของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ และขอให้คำมั่นสัญญานี้ไว้จนชั่วชีวิต
มาในยุคปัจจุบันเราก็มี องค์หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน แห่งวัดป่าบ้านตาด อ.เมือง จ.อุดรธานี
“…พอตื่นขึ้นมา สิ่งแรกที่คิดถึงก่อนอื่น ก็คือเรื่องการช่วยโลก ไมมีแม้แต่น้อยที่คิดถึงเรื่องตัวเอง พระช่วยไม่ได้ ใครเล่าจะช่วยได้…”
นั่นคือปณิธานอันสูงส่งและเปี่ยมไปด้วยความงามสง่าของพระธรรมวิสุทธิมงคล หรือ ‘หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน’ แห่งวัดป่าบ้านตาด อ.เมือง จ.อุดรธานี อริยสงฆ์ผู้มีเมตตาธรรมอันล้นเหลือต่อประเทศชาติและประชาชน ผู้อุทิศสังขารอันสูงวัยของตนที่สมควรจะต้องพักผ่อนในที่สัปปายะ แต่กลับมาเพียรเที่ยวเทศนาให้คนในชาติรู้สึกและสำนึกถึงการเสียสละเพื่อประเทศชาติในยามที่ประสบกับภาวะ ‘วิกฤตเศรษฐกิจ’ อย่างหนัก
จากเหนือจรดใต้ จากตะวันออกจรดตะวันตก ทุกหนทุกแห่ง และทุกก้าวของท่านที่เหยียบย่างลงบนผืนแผ่นดินไทย เต็มเปี่ยมไปด้วยเมตตาคุณอันยิ่งใหญ่ เพียงเพื่อหวังให้เราทุกคนสืบไปจนชั่วลูกชั่วหลานได้อาศัยอยู่บนผืนแผ่นดินไทยอย่างมีศักดิ์ศรี ไม่เป็นทาสและเสียเอกราชทางเศรษฐกิจให้แก่ระบบทุนนิยมสามานย์แห่งโลกสมัยใหม่…
นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ที่ได้จารึกไว้ เกี่ยวกับวีรกรรมของพระภิกษุสงฆ์ผู้เสียสละ เมตตากระทำกิจอันยิ่งใหญ่เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชน เพื่อให้ทุกท่านนำมาประกอบการพิจารณาว่า กิจของสงฆ์คืออะไร …